สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนา “การขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ” เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม กับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อันจะนำไปสู่การใช้แผนแม่บทเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน รวมถึงเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องในการนำแผนไปปฏิบัติ
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา “การขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ” โดยมี นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประธานสภาเกษตรกรจังหวัดภาคกลาง สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครปฐม ผู้บริหารสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด หัวหน้าส่วนยุทธศาสตร์การเกษตร พนักงานสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และพนักงานสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนรวมทั้งสิ้น 150 คน เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้
นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ รักษาการแทนเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 41 กำหนดให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นแผนที่สะท้อนปัญหาและความต้องการของเกษตรกรจากระดับพื้นที่สู่ระดับนโยบาย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 ของประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 43 ในการติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนแม่บท รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ซึ่งแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการกำหนดทิศทางภาคการเกษตรของไทย และจะเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคเกษตร อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย การพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดยยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม และศักยภาพภาคเกษตรกรรม รวมทั้งนำข้อมูลจากแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดมาสังเคราะห์ เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการจัดทำแผนดังกล่าว โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีการบรรยาย การอภิปราย และการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การแปลงแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมสู่การปฏิบัติ การเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกร การพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงและพอเพียงของเกษตรกรไทย
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม ภาพ/ข่าว