สศท.2 เผยสถานการณ์ถั่วเหลืองรุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ปี 2566/67 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ

นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองรุ่น 2 ปีเพาะปลูก 2566/67 ของ 6 จังหวัด ในพื้นที่รับผิดชอบของ สศท.2 (พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน)

ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2567 พบว่า มีเนื้อที่ปลูกรวม 18,717 ไร่ ลดลงจาก 18,894 ไร่ ของปีที่ผ่านมา (ลดลง 267 ไร่ หรือ ร้อยละ 1.41) เนื่องจากเมล็ดพันธุ์หายากและมีราคาแพง ขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวและค่าแรงงานสูง ประกอบกับผลผลิตเสียหายช่วงใกล้ระยะเก็บเกี่ยว เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวนาปรัง ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงานทดแทน เนื่องจากเห็นว่าได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยเฉพาะอ้อยโรงงานที่ราคาอ้อยขั้นต้นในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก ด้านผลผลิตรวม 4,876 ตัน ลดลงจาก 5,140 ตัน ของปีที่ผ่านมา (ลดลง 263 ตัน หรือร้อยละ 5.12) และผลผลิตเฉลี่ย 262 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจาก 266 กิโลกรัม/ไร่ ของปีที่ผ่านมา (ลดลง 4 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 1.44) เนื่องจากประสบภาวะภัยแล้งในช่วงการเพาะปลูก และปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต จึงส่งผลให้ฝักลีบและเมล็ดมีขนาดเล็ก

☘️☘️สำหรับแหล่งผลิตถั่วเหลือง รุ่น 2 ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สศท.2 ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ได้แก่ น่าน แพร่ และสุโขทัย ซึ่งน่าน มีพื้นที่ปลูก 4,966 ไร่ ผลผลิต 1,480 ตัน แพร่ มีพื้นที่ปลูก 3,654 ไร่ ผลผลิต 998 ตัน และสุโขทัย มีพื้นที่ปลูก 3,608 ไร่ ผลผลิต 781 ตัน โดยเกษตรกรมีการปลูกถั่วเหลือง รุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน (มากที่สุดเดือนมีนาคม – เมษายน ร้อยละ 88.56) ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 22 เมษายน 2567 เกรดคละเฉลี่ยอยู่ที่ 20.50 บาท/กิโลกรัม ส่วนสถานการณ์การตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 75 จำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ อีกร้อยละ 22 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมในท้องถิ่น เพื่อส่งจำหน่ายไปยังโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรในต่างจังหวัด อาทิ โรงงานแปรรูปน้ำมันถั่วเหลือง ส่วนที่เหลือร้อยละ 3 เก็บไว้ทำเมล็ดพันธุ์สำหรับปีต่อไป

🟢🟢ด้านสถานการณ์การนำเข้าส่งออกถั่วเหลืองของไทยในปี 2566 (ข้อมูลจากสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้มปี 2567 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2566) มีการนำเข้ามีมากถึง 3.20 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.02 ล้านตัน ในปี 2565 ร้อยละ 5.96 เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ผลิตเมล็ดพันธุ์ และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ส่วนการส่งออกเพียง 450 ตัน ลดลง จาก 935 ตัน ในปี 2565 ร้อยละ 51.87 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีน้อยและยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ

📌📌ทั้งนี้ ตามนโยบายส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ การขยายพื้นที่ปลูก ลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน และการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแบบ Low Carbon ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการผลิตแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้เมล็ดพันธุ์ดี การจัดการน้ำในระบบน้ำหยดร่วมกับการให้ปุ๋ยแบบอัตโนมัติ การใช้เครื่องจักกลการเกษตร และใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม ลดการนำเข้า

และสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดย สศท.2 จะได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดถั่วเหลืองในพื้นที่ตามห้วงฤดูกาลผลิตต่อไป เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนบริหารจัดการสินค้าถั่วเหลืองตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ถั่วเหลืองถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ขณะที่ความต้องการของอุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงขอฝากให้เกษตรกรดูแลรักษา และเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและตลาดถั่วเหลืองของภาคเหนือ สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2658 หรือ อีเมล์ zone2@oae.go.th

✏✏ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
📂📂ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก

You missed