ราชบุรี: เขาชะงุ้มชวนน้องเที่ยววันเด็กแห่งชาติ
ผอ.ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชวนน้อง ๆ งานวันเด็กแห่งชาติ ชมดอกทานตะวันบาน มีกิจกรรมสร้างสีสันมากมาย เช่น การแจกว่าว ให้เด็ก ๆ สนุกสนานไปกับการอนุรักษ์สืบสานว่าวไทย ช่วงปีใหม่ผลตอบรับดี มีนักท่องเที่ยวเข้าชมทุ่งทานตะวันจำนวนมาก
( 7 ม.ค. 68 ) นางสาวกฤษณา ทิวาตรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า การจัดงานน้อมรำลึกวันก่อตั้งศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2567 ยาวถึง 5 มกราคม 2568 ขณะนี้ยังคงมีดอกทานตะวันเบ่งบานสวยงามสะพรั่งอยู่ สามารถมาเที่ยวชมได้อีก ยาวไปถึงช่วงวันเด็กแห่งชาติ หรือ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม ที่กำลังจะมาถึงนี้ได้อีกด้วย ผู้ปกครองสามารถพาเด็ก ๆ มาเที่ยวชมทุ่งทานตะวันได้ นอกจากนี้ยังมีสวนกล้วยไม้หลายสายพันธุ์จัดแสดงไว้ให้ได้ถ่ายภาพสวย ๆไว้เป็นที่ระลึก
ยังมีร้านค้าของดี จ.ราชบุรี ที่จะนำสินค้าของดี ผลิตภัณฑ์ของดีในชุมชนต่าง ๆ มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วย อาทิ ข้าวตังของ อ.บ้านโป่ง ผลิตภัณฑ์ผักปลอดสารของเกษตรกรเครือข่าย ผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูป ของฝาก ของที่ระลึก นักท่องเที่ยวจะได้นั่งรถรางชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต บนพื้นที่ 869 ไร่ ของโครงการ ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย ถ่ายภาพสวย ๆ กับทุ่งทานตะวันที่เหลืองอร่ามเก็บไว้เป็นที่ระลึก พิเศษปีนี้ยังมีการแจกว่าวไทยให้แก่เด็ก ๆ ฟรี มาป้อนนมแพะ แคะขนมครก เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการเล่นว่าว มีความสุขกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติปีนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามจาการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯทราบว่ามีการจดสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวแต่ละวันที่เข้ามาเที่ยวชมทุ่งทานตะวันช่วงระหว่างวันที่ 26 ธค. 67 – 5 มกราคม 68 มีนักท่องเที่ยวมาชมทุ่งทานตะวันวันละเกือบหมื่นคน โดยเฉพาะช่วงวันที่ 31 – 1 มกราคม ยอดจำนวนสถิติวันละกว่า 11,000 คน ต่อวัน ซึ่งการปลูกดอกทานตะวันปีนี้ได้ผลดี มีการปลูก 2 ระยะ ลักษณะดอกใหญ่โตกว่าทุกปี ประกอบกับยังมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นสบายในช่วงเช้า ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยว ถ่ายภาพสวย ๆ กันอย่างคึกคัก วันเด็กแห่งชาติปีนี้จึงเชิญชวนผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานมาเที่ยวกันได้
ภาพ/ข่าว: พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี